Translate

02 มกราคม 2556

การเก็บชาผูเอ่อร์

สวัสดีปีใหม่ครับทุกๆท่าน ขอให้รวยๆเฮงๆสุขๆดีๆกันถ้วนๆหน้านะครับ 
วันนี้ขอคุยเรื่องการเก็บชาผูเอ่อร์กันครับ ก่อนอื่นต้องขอแบ่งออกเป็นสองประเด็นก่อนนะครับ ๑.จะเลือกเก็บชาอะไรดี ๒.แล้วจะเก็บยังไงดีครับ
๑.คอผูเอ่อร์คงรู้กันว่าชาผูเอ่อร์ยิ่งเก่ายิ่งดีและราคายิ่งสูง การจะดื่มชาผูเอ่อร์ดีๆเก่าๆก็มีสองวิธีคือ ถ้ามีกำลังก็เลือกซื้อที่อายุเก่าๆมาดื่มได้ แต่ก็ต้องระวังชาปลอมหรือชาโกงอายุซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลายให้ดี หรือหาชาใหม่แล้วเก็บให้เก่า วิธีหลังอาจจะให้ความภูมิใจมากกว่าแต่ก็ต้องใจเย็นและรู้จักวิธีการเก็บทีู่ถูกต้องด้วยนะครับ
ก่อนอื่นจะมาพูดถึงวิธีเลือกซื้อชาก่อนนะครับ ชาผูเอ่อร์จะแบ่งออกเป็นสองชนิดคือชาสุกและชาดิบ 
ชาสุกคือชาที่ผ่านการหมักมาแล้ว รสชาติก็จะถูกกำหนดมาแล้ว มีหลายรสชาติหลายโรงงาน ควรเลือกซื้อชาโรงงานใหญ่ๆเพราะเค้ามีความพร้อมทุกๆด้านมากกว่าครับ เช่น สูตรหมักที่ดี บุคลาการ สถานที่ ความสะอาด ๆลๆ ชาสุกคือชาที่หมักมาเพื่อให้ดื่มได้เลย ถ้าเก็บไว้ยิ่งนานน้ำชาก็จะยิ่งนุ่มและยิ่งหวานขึ้นตามกาลเวลา ว่ากันว่าถ้านานได้ที่น้ำชาจะละลายในปากเลยนะครับ ชาสุกจะดูได้ง่ายๆดังนี้ ดูจากใบชาจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำๆ ชงแล้วสีน้ำชาจะออกน้ำตาลหรือดำไปเลยถ้าแช่นาน เป็นชาที่เป็นมิตรต่อกระเพาะและลดคลอเรสเตอรอลได้ดีมาก และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เหมาะสำหรับดื่มหน้าหนาวครับ
ชาดิบคือชาที่ปล่อยให้หมักตัวตามธรรมชาติครับ อันนี้ต้องพิถีพิถันในการคัดเลือกใบชามากกว่าชาสุกครับ เพราะกรรมวิธีไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่นำใบชามาคั่วแล้วก็ตากแห้ง ถ้าวัสดุชาไม่ดีมันก็จะฟ้องตัวมันเองในด้านของรสชาติครับ มันถึงมีชาสูตรกับสูตรกับชาฉุนแล่วยังไงหละครับ ชาสูตรคือชาดิบที่เอาใบชาหลายๆตัวหลายๆเกรดมาผสมกันเพื่อให้รสชาติดีขึ้นครับ  ชาฉุนแล่วคือการนำใบชาตัวเดียวไม่ผสมชาตัวอื่นเลยครับ อันนี้เป็นของจริงครับต้องชาดีจริงๆถึงจะทำได้ครับ ไม่เช่นนั้นรสชาติจะไม่ดีเลยครับ ชาฉุนแล่วจะไห้รสชาติที่เที่ยงแท้จริงๆของใบชา นี่แหละครับที่คอชายุคใหม่สันหากันครับ ส่วนมากใบชาเกรดดีมักจะนำมาทำชาดิบก่อนทั้งนั้นแหละครับ จะเห็นได้ว่าราคาชาดิบจะสูงกว่าชาสุกครับ ทีนี้มาดูชาดิบกันแบบง่ายๆครับ หน้าตาชาจะสวยใบชาจะมาเป็นใบๆยอดๆแล้วแต่เกรดครับ สีใบชาจะไม่ดำเหมือนชาสุกครับ ถ้าชงแล้วชาใหม่สีน้ำชาจะออกเหลืองๆครับ แต่ชายิ่งนานสีจะยิ่งเข้มออกไปทางสีน้ำตาลครับ ชาตัวนี้ยิ่งเก็บรสชาติจะดีขึ้นมากๆครับ รสชาติจะเปลี่ยนแลงตามอายุและตามสภาพแวดล้อมในการเก็บครับ เค้าเรียกว่ารสชาติชาดิบมันมีชีวิตครับ ถ้าได้ลองของเก่าและดีก็อาจให้คุณหลงใหลไปเลยก็ว่าได้ครับ แต่รสชาติก็ขึ้นอยู่กับเกรดใบชาอีกทีครับ ชาดิบจะให้บอดี้น้ำชาดีกว่าและชุ่มคอหวานลิ้นมากกว่าครับ เหมาะสำหรับดืมในเมืองร้อนเช่นบ้านเราครับ โบราณกล่าวว่า หนาวดื่มชาสุกร้อนดื่มชาดิบครับ
ทีนี้มาคุยเรื่องการเก็บใบชากันครับ ถ้ามืออาชีพจริงๆตอนซื้อชาเค้าจะถามถึงเรื่องการเก็บด้วยครับ เค้าจะถามว่าเป็นชาโกดังเปียกหรือแห้ง โกดังคุนหมิงหรือโกดังกวงตุ้งเป็นต้น แต่ที่แน่ๆมีชาโกดังแห้งไทยแน่นอนแล้วชัวร์ครับ 
ตอนนี้ที่เมืองซือเหมาเค้าเริ่มมีธนาคารเก็บชาผูเอ่อร์เป็นแห่งแรกแล้วนะครับ เป็นที่สำหรับช่วยลูกค้าเก็บชาในโกดังแห้งครับ เช่นเก็บในอากาศถ่ายเท อุณหภูมิ ๒๕ องศา ความชื้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พลิกชาทุกๆสามเดือนและฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีเป็นต้นครับ
อะไรคือโกดังเปียก ความหมายรวมๆคือชาที่เก็บไม่ดีครับ ที่ฮ่องกงเป็นแหล่งที่นิยมดื่มชาสุกมากที่สุดครับ ในร้านติ่มซำมักจะนิยมเสริฟกันมากครับ ร้านชาฮ่องกงจะสั่งชาใหม่ที่ราคาถูกไปแล้วนำเค้าโกดังเร่งให้หมักตัวโดยการเพิ่มความชื้นและอุณหภูมิ ชาก็จะหมักตัวเร็วขึ้นและสามารถนำออกมาจำหน่ายโดยไม่ต้องเก็บนาน ถึงแม้น้ำชาจะนุ่มขึ้นก็จริงแต่มักจะมีกลิ่นชื้นกลิ่นอับแถมมาก็ชาด้วย หลายๆคนยังหลงผิดอยู่ในเวลานี้คือชาดีต้องมีกลิ่นอับ ยิ่งเหม็นยิ่งดี ที่จริงไม่ถูกต้องนะครับ เป็นความเข้าใจผิดที่มาจากทางเกาะฮ่องกง และเป็นที่มาของคำว่าโกดังเปียกครับ ชาดีต้องได้รสชาตืที่เที่ยงแท้ของใบชาเอง โดยไม่ควรมีกลิ่นแปลกปลอมเข้ามาปะปนถึงจะถูกครับ
โกดังแห้งก็คือชาที่เก็บมาอย่างดีนั่นเองครับ หลายๆคนยังข้องใจกับการเก็บชาอยู่ ผมขอเสนอวิธีการเก็บชาที่ถูกหลักในความคิดของผมนะครับ ก่อนอื่นคุณต้องแยกชาดิบชาสุกออกจากกันก่อนครับ ถ้ามีเป็นลังก็อย่าแกะลัง มีเป็นมัดก็อย่าแกะมัดนะครับ เพราะลังกับมัดมันจะช่วยป้องกันแสงแดดและความชื้นได้ดีระดับหนึ่ง ถ้ามีชาน้อยก็เก็บใส่ภาชนะถ้ำชาได้ครับ จะชาดิบปนกับชาดิบชาสุกก็ใส่รวมกับชาสุกก็ได้ครับ ถ้าแยกเขาแยกชนิดชาได้ก็จะยิ่งดีครับ การเก็บก็ควรเก็บในสถานที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีกลิ่นอับกลิ่นชื้น ห้ามโดนน้ำและแสงแดดส่องโดนตัวชาโดยตรง และไม่ควรเก็บในห้องแอร์นะครับ เพราะมันจะแห้งและทำให้อุณหภมูิเปลี่ยนแปลงฉับพลัน และมากเกินไป ในตู้เย็นก็ไม่ได้เด็ดขาดครับ และหมั่นตรวจเช็คทุกๆสามเดือนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้วครับ ขอให้มีความสุขในการเก็บชาโกด้งแห้งไทยนะครับ แต่ขอเตือนข้อสุดท้ายครับ ก่อนเก็บชาควรทำการบ้านให้เยอะๆ ยกระดับการดื่มของตนเองให้สูง หาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ดูทิศทางการตลาดให้ดี อย่าหลงเชื่อคำพูดของคนขาย อย่าหวังเก็บเพื่อเก็งกำไร เพราะผมสัมผ้สคนมาเยอะครับ บางคนเก็บชาแสบคอไว้เต็มห้องแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรครับ 
ด้วยความหวังดีครับ คุณจาง

7 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณมิกนะครับที่ตามให้กำลังใจด้วยดีมาตลอดครับ

      ลบ
  2. ขอบคุณครับ ความรู้ดีๆทั้งนั้นเลยครับ
    มิก

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆน่ะครับคุณจาง ......

    ขอบคุณครับ
    แว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับคุณแวก็เป็นคนที่ให้กำลังใจผมมาตลอดเช่นกันครับ

      ลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ3 มกราคม 2556 เวลา 16:42

    เปิดอ่านทีไรวางมือไม่ลงทุกที
    เป็นคำตอบสั้นๆครับคุณจาง
    ขอให้ปั้นชาที่ดีอยู่คู่กับเราตลอดไปนะ
    มน ปทุมธานี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบพระคุณครับ คุณมนตรีเป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของทีดีครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ

      ลบ